จำนองคืออะไร

 
การจำนอง คือ
 
สัญญาที่ผู้จำนองใช้ ทรัพย์สินของตนเองเป็นประกันการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยนำไปจดทะเบียนตราไว้เป็นประกัน เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้ มีสิทธิบังคับเอาทรัพย์สินที่จำนองได้ ผู้จำนองอาจจะเป็นตัวลูกหนี้เองที่เอาทรัพย์สินมาจำนองเจ้าหนี้(ลูกหนี้ชั้น ต้น)หรือบุคคลอื่นอื่นเอาทรัพย์สินมาจำนองเจ้าหนี้ก็ได้ (บุคคลที่สาม) ลักษณะของสัญญาจำนอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 วรรคแรก บัญญัติว่า “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคน หนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สิน นั้นให้แก่ผู้รับจำนอง” วรรคสอง บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญ มิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้ว หรือหาไม่”
 
ลักษณะของสัญญาจำนอง
 
1.ผู้จำนอง คือ
1.1 ตัวลูกหนี้เอง หรือ
1.2 บุคคลอื่นนำทรัพย์สินมาจำนองกับเจ้าหนี้
2. สัญญาจำนองต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
ผู้จำนองต้องเอาเอกสารที่แสดงถึงสิทธิในทรัพย์สิน เช่น โฉนดที่ดิน เป็นต้น ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้ทรัพย์สินของ ผู้จำนองผูกพันหนี้ประธาน โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนอง ทั้งนี้ผู้รับจำนองจะต้องเป็นเจ้าหนี้และหนี้จำนองที่เป็นประกันจะต้องเป็น หนี้ที่สมบูรณ์ด้วยกฎหมายกำหนดแบบของสัญญาจำนองไว้ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่
(ตามมาตรา 714)นอกจากนี้จะต้องมีข้อความที่ระบุถึงทรัพย์สินที่จำนอง (ตามมาตรา 704)และวงเงินที่จำนองด้วย (ตามมาตรา 708)
ถ้าสัญญาไม่มีข้อความตามที่กฎหมายบังคับ เจ้าหน้าที่จะไม่จดทะเบียนจำนองให้ การมอบโฉนดที่ดินหรือที่ดิน นส.3 ให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้โดยไม่ได้ไปจดทะเบียนจำนอง ไม่ถือว่าเป็นการจำนอง
3.ทรัพย์สินที่จำนองได้ คือ
ตามมาตรา 703 วรรคแรก บัญญัติว่า “อันอสังหาริมทรัพย์นั้นอาจจำนองได้ไม่ว่าประเภทใดๆ” วรรคสอง บัญญัติว่า “สังหาริมทรัพย์อันจะกล่าวต่อไปนี้ก็อาจจำนองได้ดุจกัน หากว่าได้จดทะเบียนไว้แล้วตามกฎหมาย คือ
(1)เรือ มีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป
(2)แพ
(3)สัตว์พาหนะ
(4)สังหาริมทรัพย์อื่นๆ ซึ่งกฎหมายหากบัญญัติไว้ให้จดทะเบียนเฉพาะการ”
อสังหาริมทรัพย์ที่จำนองได้ เช่น โฉนดที่ดิน,บ้าน,โรงเรือน,สิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น สังหาริมทรัพย์ โดยทั่วไปจำนองไม่ได้ เช่น รถยนต์,ทอง,นาฬิกา เป็นต้น แต่ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์พิเศษ
ตามมาตรา 703 วรรคสอง จึงจะจดทะเบียนจำนองได้
 
หลักเกณฑ์ในการจำนอง
 
            1. ผู้จำนองต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์ที่จะจำนอง
            2. สัญญา จำนอง ต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ มิฉะนั้นสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะไม่มี ผลผูกพันแก่คู่สัญญาแต่อย่างใด ในการกู้ยืมเงินนั้นมีอยู่เสมอ ที่ผู้กู้ได้นำเอาโฉนดที่ดินของตนไปมอบให้แก่ผู้ให้กู้เก็บรักษาไว้เฉยๆ เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ โดยไม่มีการทำเป็นหนังสือและไม่ได้นำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ไม่ใช่
การจำนอง ผู้ให้กู้หาได้มีสิทธิใดๆ ในที่ดินตามโฉนดแต่อย่างใด คงได้แต่เพียงกระดาษโฉนดไว้ในครอบครองเท่านั้น ดังนั้น ถ้าผู้ให้กู้ ประสงค์ที่จะให้เป็นการจำนองตามกฎหมายแล้ว จะต้องทำเป็นหนังสือและนำไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่
            3. ต้องไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจรับจดทะเบียนจำนองตามกฎหมาย กล่าวคือ
ก. ที่ดินที่มีโฉนดต้องนำไปจดทะเบียนที่กรมที่ดิน หรือสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร (สาขา) หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด หรือสำนักงานที่ดินจังหวัด (สาขา) ซึ่งที่ดินนั้นต้องอยู่ในเขตอำนาจ
           ข. ที่ดินที่ไม่มีโฉนด ได้แก่ที่ดิน น.ส. 3 ต้องไปจดทะเบียนที่อำเภอ ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ
            ค. การจำนองเฉพาะบ้านหรือสิ่งปลูกสร้างไม่รวมที่ดินต้องไปจดทะเบียนจำนองที่อำเภอ

ขอบเขตของสิทธิจำนอง

ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองเท่านั้น จะไปบังคับถึงทรัพย์สินอื่นๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองไม่ได้
เช่น จำนองเฉพาะที่ดินย่อมไม่ครอบถึงโรงเรือนหรือบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนองเว้น แต่จะได้ตกลงกัน
ไว้ก่อนหน้าว่าให้รวมถึงบ้านและโรงเรือนดังกล่าวด้วย
– จำนองเฉพาะบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของคนอื่น ก็มีสิทธิเฉพาะบ้านเท่านั้น
– จำนองย่อมไม่ครอบคลุมถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เช่น จำนองสวนผลไม้ดอกผลที่ได้จากสวนผล
ไม้ยังคงเป็นกรรมสิทธิของผู้จำนองอยู่ ทรัพย์สินซึ่งจำนองอยู่นี้ ย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ดังต่อไปนี้คือ
1. เงินต้น
2. ดอกเบี้ย
3. ค่าเสียหายในการไม่ชำระหนี้ เช่นค่าทนายความ
4. ค่าธรรมเนียมในการบังคับจำนอง
 
การชำระหนี้จำนอง
 
การชำระหนี้จำนองทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ดี การระงับหนี้จำนองไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ดีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงในการจำนองก็ดี กฎหมายบังคับให้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่มิฉะนั้น แล้วจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้
            ตัวอย่าง นายเอกจำนองที่ดินของตนไว้กับนายโท ต่อมานายโทยอมปลดจำนองที่ดินดังกล่าวให้แก่นายเอก แต่ ทั้งสองฝ่ายมิได้ไปจดทะเบียนการปลดจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ต่อมานายโทโอน การจำนองให้นายจัตวาโดย จดทะเบียนถูกต้อง แล้วนายจัตวาได้บังคับจำนองที่ดินแปลงนี้ นายเอกจะยกข้อต่อสู้ว่านายโทปลดจำนองให้แก่ตนแล้ว
ขึ้นต่อสู้กับนายจัตวาไม่ได้
 
 
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ คุณชาตรี โทร. 095-472-7322 
 
(หากผมไม่ได้รับสาย ผมจะรีบติดต่อกลับให้เร็วที่สุดนะครับ)
 

 

ข้อมูลติดต่อ

 

โทร : 095-472-7322

 

FACEBOOK : JPCapitalDotPartners

 

E-MAIL : hearhui@gmail.com

 

LINE : hearhui